พระประจำวันเกิด ลักษณะ และประวัติความเป็นมา

พระพุทธรูปนั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเคารพบูชา เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงธรรมให้แก่ชาวโลกให้ได้รู้ถึงการละกิเลสทั้งหลาย และเชื่อเหลือเกินว่าต้องมีหลายคนที่เคยบูชาพระประจำวันเกิด ซึ่งพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน แต่ละปางก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้

วันอาทิตย์

พระประจำวันอาทิตย์ คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์สองข้างประสานกันระหว่างพระเพลา พระเนตรเพ่งไปข้างหน้า

  • ประวัติความเป็นมา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข หรือ สุขที่เกิดขึ้นจากความสงบ บริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน หลังจากนั้นได้ไปประทับยืนกลางแจ้งทางทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากนั้นได้ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มีของการสร้างพระพุทธรูปปางถวายเนตร

วันจันทร์

พระประจำวันจันทร์ คือ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือ ปางห้ามสมุทร สำหรับปางห้ามญาติเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ขึ้นข้างเดียว ในลักษณะกิริยาห้าม โดยที่พระหัตถ์นั้นจะอยู่เสมอพระอุระ สำหรับปางห้ามสมุทรจะยกพระหัตถ์ขึ้นทั้งสองข้าง

  • ประวัติความเป็นมา สำหรับความเป็นมาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติคือ พระพุทธองค์ได้ห้ามญาติฝ่ายพุทธบิดาและฝ่ายพุทธมารดาไม่ให้ทะเลาะกันเรื่องการแย่งน้ำเพื่อไปเพาะปลูก

วันอังคาร

พระประจำวันอังคาร คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน ลักษณะของพระพุทธรูปจะอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา พระบาทซ้อนทับกัน พระหัตถ์ด้านซ้ายทาบพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ข้างขวาจะตั้งรับพระเศียร

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธองค์ได้มีการรับสั่งให้พระจุนทะเถระทำการปูอาสนะระหว่างต้นรังจากนั้นได้ทรงบรรทมแบบสีหไสยาสน์ หรือการนอนในแบบของราชสีห์ โดยได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เสด็จลุกขึ้นมาอีก ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปปางนี้จึงสร้างเพื่อรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์

วันพุธ

พระประจำวันพุธจะมี 2 องค์ โดยจะมีพระพุทธรูปประจำวันพุธกลางวันและกลางคืน ได้แก่ ปางอุ้มบาตร และปางป่าเลไลยก์

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จะเป็นพระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางวัน) มีลักษณะอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองอุ้มบาตรไว้

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธองค์ได้ทรงอุ้มบาตรไปโปรดเวไนยสัตว์ ชาวบ้านได้เห็นพระจริยาวัตรจึงได้สรรเสริญ ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาได้ทราบจึงโกรธหาว่าพระพุทธองค์ไปขอทาน แต่พระพุทธองค์ก็ได้อธิบายว่าเป็นการโปรดสัตว์ ไม่ใช่การขอทาน

พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปประจำวันพุธ (กลางคืน) มีลักษณะอยู่ในพระอิริยาบถประทับอยู่บนก้อนศิลา พระบาทวางบนดอกบัว พระหัตถ์ข้างซ้ายวางคว่ำอยู่บนพระชานุ พระหัตถ์ข้างขวาวางหงาย มีช้างหมอบใช้งวงทำการจับกระบอกน้ำไว้ และมีลิงถือรวงผึ้งเพื่อถวาย

  • ประวัติความเป็นมา พระพุทธองค์ได้ไปประทับที่เมืองโกสัมพี และได้มีพระภิกษุหลายรูปไม่สามัคคีกัน พระองค์จึงเสด็จไปอยู่ในป่าปาลิไลยกะตามลำพัง จึงได้เกิดความสงบ และได้มีพญาช้างและพญาลิงที่เกิดความเลื่อมใส เข้ามาคอยปรนนิบัติไม่ให้มีสัตว์ร้ายเข้ามาทำอันตรายได้

วันพฤหัสบดี

พระประจำวันพฤหัสบดี คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้ ลักษณะของพระพุทธรูปจะอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา

  • ประวัติความเป็นมา เป็นปางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา

วันศุกร์

พระประจำวันศุกร์ คือ พระพุทธรูปปางรำพึง ลักษณะของพระพุทธรูปจะอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างประสานกันที่พระอุระ

  • ประวัติความเป็นมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้ทรงคิดรำพึงว่า ธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมีความละเอียดลึกซึ้งมากเกินกว่ามนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจ จึงมีความคิดว่าจะไม่แสดงธรรมให้แก่ชาวโลก เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของท้าวสหัมบดีพรหม จึงได้ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม เพราะยังมีมนุษย์ที่มีกิเลสมากมายที่ต้องฟังธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้ตัดสินใจแสดงธรรม

วันเสาร์

พระประจำวันเสาร์ คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก ลักษณะของพระพุทธรูปจะอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคขดร่างเป็นวงกลมแผ่พังพานอยู่ด้านหลังเหนือพระเศียร

  • ประวัติความเป็นมา ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังนั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่ก็ได้มีฝนตกลงมาไม่หยุด จึงได้มีพญานาคตนหนึ่งชื่อว่า มุจลินท์นาคราช แสดงอิทธิฤทธิ์โดยการขดร่าง แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้ เพื่อไม่ให้ฝนและลมหนาวโดนพระวรกาย

ได้รู้ถึงลักษณะของพระประจำวันเกิด และประวัติความเป็นมาแล้ว หากคุณเกิดวันไหนก็ลองหาพระพุทธรูปประจำวันเกิดมาบูชากัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวคุณ